วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2552

การประกันคุณภาพภายในโรงเรียนวัดเวฬุวนาราม โดยการพัฒนาเทียบเคียง (Benchmarking) กับโรงเรียนที่ผ่านการประเมินภายนอก

บทคัดย่อ

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดไว้ว่าสถานศึกษาต้องดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยเน้นการประสานงานและการมีส่วนร่วมกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายใน และการพัฒนาการดำเนินการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนวัดเวฬุวนาราม โดยการพัฒนาเทียบเคียง (Benchmarking) กับโรงเรียนที่ผ่านการประเมินภายนอก วิธีการศึกษาใช้วิธีสอบถาม สัมภาษณ์ และสังเกต ผู้ร่วมศึกษา ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และกรรมการสถานศึกษา กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหาร ครูปฏิบัติการสอนโรงเรียนที่ผ่านการประเมินภายนอก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (X) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษา พบว่า
1. สภาพการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายใน โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง การดำเนินกิจกรรมตามมาตรฐานการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ โรงเรียนมีปัญหาในการดำเนินงาน คือ บุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจ โรงเรียนขาดเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมพัฒนา ขาดงบประมาณ โรงเรียนแก้ไขโดยการจัดประชุม อบรม ศึกษาดูงานให้แก่บุคลากร มีการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนและระดมทรัพยากรจากชุมชน
2. การดำเนินการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนที่ผ่านการประเมินภายนอก (โรงเรียนเทียบเคียง) แต่ละโรงเรียนมีการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาอย่างหลากหลายตามมาตรฐานการศึกษา โรงเรียนวัดหนองปรง (บุญมานุสรณ์) มีจุดเด่น คือ การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน เน้นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนวัดเทพประชุมนิมิตร (ศาสตร์ราษฎร์บำรุง) มีจุดเด่นของความพร้อมในด้านปัจจัยและทรัพยากร มีการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาตามโครงสร้างอย่างชัดเจน มีหลักสูตรท้องถิ่นที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น โรงเรียนวัดยาง (เย็นประชาสรรค์) มีจุดเด่นในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
3. การพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนวัดเวฬุวนาราม ได้ดำเนินการประกันคุณภาพเป็นระบบครบวงจร PDCA โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ใช้รูปแบบวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ พบว่า ครูมีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินงานตามโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ และจากการศึกษาการดำเนินการพัฒนาในวงจรปฏิบัติการศึกษา ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน ด้านกระบวนการ และด้านปัจจัย โดยใช้วงจรการพัฒนาคุณภาพมาใช้ในการพัฒนากิจกรรม และรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต แล้วสรุปผลการศึกษา พบว่า การดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาในแต่ละมาตรฐาน ทั้ง 3 ด้านได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ ผู้บริหาร ครูและนักเรียนให้ความสนใจในการดำเนินงานแต่ละกิจกรรม มีความกระตือรือร้นและมีบรรยากาศในการทำงานที่ดี และครูสามารถที่จะนำผลการแก้ไขปรับปรุงไปประยุกต์ใช้ และจากการเปรียบเทียบรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในรอบแรกและรอบที่ 2 โดยศึกษานิเทศก์ ปรากฏว่า โรงเรียนมีการพัฒนา มีมาตรฐานการศึกษาที่สูงขึ้นทุกมาตรฐาน